สับสนไหม... คะ ค่ะ คำไทยง่าย ๆ แต่ทำไมใช้ผิดกันบ่อยจัง


            ใครมั่นใจว่าตัวเองเป็นเซียนภาษาไทย ลองตอบหน่อยซิว่า คำต่อไปนี้เขียนถูกหรือผิดกันแน่จ๊ะ?..."สวัสดีคะ", "ไปไหนกันค่ะ", "ขอบคุณมากนะค๊ะ", "ไม่ทราบเหมือนกันคะ" 

            เอ...ประโยคเหล่านี้ดูแล้วก็ไม่น่าจะเขียนผิดตรงไหนเลยใช่ไหมคะ ใครให้คำตอบแบบนี้ ต้องมารื้อฟื้นความรู้ภาษาไทยเสียใหม่แล้วล่ะ เพราะคำพวกนี้เขียนผิดล้วน ๆ แถมสมัยนี้เรายังเห็นคนใช้ คะ ค่ะ นะคะ ผิดกันเป็นแถว ๆ (อ่านแล้วก็แอบขัดใจเนอะ) พอไม่มีใครทักท้วงก็เลยใช้ผิดกันจนชินไปเลย ขืนปล่อยไว้แบบนี้ ไม่ดีแน่ ๆ 

            ถึงเวลาต้องมาทำความเข้าใจกันใหม่แล้วล่ะจ้ะ ด้วยเคล็ดลับการเขียน คะ ค่ะ นะคะ แบบง่าย ๆ รับรองว่าใช้ได้ถูกต้องทุกสถานการณ์ ไม่สับสนแน่นอน 

            ก่อนอื่น หลายคนคงสงสัยว่า คำว่า คะ ค่ะ นะคะ เขียนอย่างไรถึงถูกต้องกันแน่ บางคนเขียน"ค๊ะ" ใส่ไม้ตรีก็มี ซึ่งใครที่สงสัยเรื่องนี้ ต้องย้อนกลับไปดูหลักภาษาไทยพื้นฐานสมัยประถมกันก่อนค่ะ โดยเฉพาะเรื่อง "อักษรสูง-อักษรต่ำ", "คำเป็น-คำตาย" และการผันวรรณยุกต์

            ปกติแล้ว ที่เราผันวรรณยุกต์ 5 เสียงกันจนชิน อย่าง กา ก่า ก้า ก๊า ก๋า หรือ ปา ป่า ป้า ป๊า ป๋า เพราะตัว "ก" และ "ป" ที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นอักษรกลาง คำเป็น เราเลยผันได้ 5 เสียงเต็ม ๆ แต่สำหรับ "ค" นั้น ตามหลักภาษาจัดให้เป็น "อักษรต่ำ" และถ้ามาผสมสระอะ เป็นคำว่า "คะ" จะถือเป็น"คำตาย" เพราะเป็นคำที่มีสระเสียงสั้น 

            เมื่อเป็นแบบนี้ เท่ากับว่า คำว่า "คะ" เป็นอักษรต่ำด้วย และเป็นคำตายด้วย การผันวรรณยุกต์จึงผันได้เพียงแค่ 2 เสียงเท่านั้น คือ "ค่ะ" (เสียงเอก) กับ "คะ" (เสียงตรี) ดังนั้น ถ้าเห็นที่ไหนเขียน"ค๊ะ" หรือ "นะค๊ะ" เติมไม้ตรีล่ะก็ อันนี้ผิดแน่นอนค่ะ เพราะอักษรต่ำอย่าง "ค" จะผันด้วยไม้ตรีไม่ได้เชียว เขียนได้แค่ "คะ" กับ "ค่ะ" เท่านั้น 
แล้ว "คะ", "ค่ะ" ใช้ต่างกันอย่างไรล่ะ?

            ถ้าให้ออกเสียงพูด ทุกคนคงพูดถูกอยู่แล้วล่ะ ว่าประโยคไหนควรจะใช้ "คะ" หรือ "ค่ะ" แต่ถ้าให้เขียน เชื่อว่าคนเกินครึ่งต้องสับสนกันบ้างแน่ ๆ เพราะฉะนั้น มาดูหลักการจำง่าย ๆ เลย นั่นคือ
          "คะ" ใช้กับประโยคที่ต้องการแสดงเสียงสูง อาจเป็นประโยคคำถามหรือเรียกด้วยความสุภาพ เช่น ไปไหนกันคะ ทางนี้ใช่ไหมคะ ทานได้ไหมคะ พี่คะมาทางนี้หน่อย เข้าใจไหมคะ ฯลฯ
          "ค่ะ" (ออกเสียง ขะ) ใช้กับประโยคที่ต้องการเสียงต่ำ อย่างประโยคบอกเล่า ตอบรับ ตอบคำถาม เช่น สวัสดีค่ะ ขอบคุณค่ะ ทางนี้ค่ะ ไม่ชอบค่ะ ขอทางหน่อยค่ะ เชิญค่ะ รับทราบค่ะ เห็นด้วยค่ะ
          นะคะ ใช้กับประโยคบอกเล่า หรือตอบรับเช่นกัน แต่จะดูสุภาพและเป็นทางการกว่า เช่น ขอบคุณมากนะคะ คิดถึงนะคะ ไม่เข้าใจก็บอกนะคะ ไปแล้วนะคะ

            เห็นตัวอย่างการใช้คำ "คะ" "ค่ะ" "นะคะ" แล้วก็คงพอนึกภาพออกแล้วใช่ไหมค่ะ อุ๊ย...ใช่ไหมคะ ต่อไปนี้เวลาส่งอีเมล แชท เล่นไลน์กับเพื่อน ก็ฝึกใช้คำเหล่านี้ให้ถูกต้องด้วยนะคะ... ไหน ๆ ลองยกตัวอย่างการเขียน คะ ค่ะ แบบถูกต้องให้ดูหน่อยซิ ^^

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
http://education.kapook.com/view64980.html

สิงคโปร์ครองแชมป์โรงเรียนคุณภาพโลก-ไทยอันดับที่ 47

             เผยผลการจัดอันดับคุณภาพโรงเรียนของโลก สิงคโปร์ติดอันดับ 1 และ 5 อันดับแรกเป็นของชาติในเอเชีย ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 47

             เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2558 องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) เปิดเผยผลการจัดอันดับคุณภาพโรงเรียน โดยดูจากคะแนนสอบในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของนักเรียนในวัย 15 ปี จาก 76 ประเทศ โดย 5 อันดับแรกเป็นของชาติในเอเชียทั้งหมด ได้แก่ 
             อันดับ 1 สิงคโปร์
             อันดับ 2 ฮ่องกง
             อันดับ 3 เกาหลีใต้
             อันดับ 4 ญี่ปุ่น กับ ไต้หวัน (คะแนนเท่ากัน)

             ส่วนอันดับที่น่าสนใจอื่น ๆ เวียดนาม อันดับ 12, สหราชอาณาจักร อันดับ 20, สหรัฐฯ อันดับ 28 ประเทศไทยติด อันดับ 47 ตามมาด้วยมาเลเซีย อันดับ 52 และอินโดนีเซีย อันดับ 69 

             ส่วน 5 อันดับรั้งท้าย ได้แก่ โอมาน, โมร็อกโก, ฮอนดูรัส, แอฟริกาใต้ และกานา อยู่อันดับที่ 76

             แอนเดรียส ชไลเคอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาของโออีซีดี เผยว่า เป็นครั้งแรกที่ทางองค์การจัดอันดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนทั่วโลก โดยมีความตั้งใจที่ให้ประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะรวยหรือจนเปรียบเทียบประเทศของตนกับประเทศที่เป็นผู้นำทางการศึกษาของโลก เพื่อค้นพบจุดแข็งและจุดอ่อนในการศึกษาในประเทศ และนำมาคิดวางแผนระยะยาว เพื่อนำความสำเร็จทางเศรษฐกิจมาปรับปรุงคุณภาพการศึกษา

             ทั้งนี้เมื่อดูจากสิงคโปร์ที่ติดอันดับ 1 แสดงให้เห็นว่าการศึกษาในประเทศนี้มีความก้าวหน้าไปอย่างมาก จากทศวรรษ 1960 ที่มีประชากรไม่รู้หนังสือจำนวนมาก ทุกวันนี้ถ้าเข้าไปในห้องเรียนของประเทศในเอเชียที่ติดอยู่ในอันดับต้น ๆ จะพบว่าครูที่สอนมีความเข้มงวดและคาดหวังให้นักเรียนทุกคนประสบความสำเร็จ และประเทศเหล่านี้จะดึงดูดครูที่มีความสามารถให้มาสอน

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

อาลัยการศึกษาไทย เก่งเจ๋งในกระดาษ

โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 22 เม.ย. 2558 05:01


“ความพินาศ ของระบบการศึกษา การวิจัยไทย : สร้างโปรดักต์...โปรแกรมคน หรือจะเอาแต่กระดาษ”....เป็นหัวข้อสนทนาจากหัวใจของ “หมอดื้อ” หรือ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตลอดเวลายาวนานของระบบการศึกษาไทยในระดับมหาวิทยาลัย ล้วนแล้วแต่ต้องการสร้างชื่อเสียง โดยการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการและการวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มค่าให้แก่นักวิชาการ อาจารย์ นักวิจัย และเป็นบรรทัดฐานให้แก่นิสิตที่จะต้องเรียนจบปริญญาตรี โท เอก
และ...มหาวิทยาลัยเข้าใจว่าการจัดอันดับโลกของมหาวิทยาลัยขึ้นกับปริมาณจำนวนของการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทําให้มีการออกกฎระเบียบในปัจจุบัน คือทุนวิจัยที่ทางมหาวิทยาลัยต่างๆของประเทศไทย ให้มีมูลค่าผลงานตีพิมพ์ 1 เรื่อง ต่อทุน 400,000 บาท
รวมถึงนิสิตปริญญาระดับต่างๆ ซึ่งมีทุนสนับสนุนวิจัยน้อยนิด แต่ยังคงต้องกระเสือกกระสนพยายามให้ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทั้งนี้ยังไม่ได้มีการพูดถึงการนําไปใช้งานได้จริงหรือไม่?...ก่อให้เกิดประโยชน์จริงในการแก้ปัญหาของประเทศหรือเปล่า?
ความจริงอีกด้าน...ข้อโต้แย้งจากนักวิชาการ นักวิจัย ปัญหาของประเทศถึงพอจะรู้ทางแก้ แต่ก็ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติไม่ได้ เพราะเป็นจริงเฉพาะของเมืองไทย หรือตีพิมพ์ก็ได้แต่วารสารในประเทศ ซึ่งก็ดูกระจอกงอกง่อย ไม่มีคนยอมรับ ทําให้เป็นที่มาของข้อสรุปที่ว่า...เป็นการวิจัยบนหอคอยงาช้าง งานวิจัยชั่งกิโลฯ
ทว่าการผลิตผลงานเพื่อตีพิมพ์ไม่ใช่เป็นเรื่องไร้ประโยชน์เสียทีเดียว การที่นักวิชาการ นักวิจัยไทย สามารถค้นคว้า ค้นพบของใหม่หรือของประยุกต์ ซึ่งตอบโจทย์หรือนําไปสู่กระบวนการนวัตกรรมใหม่ๆในอนาคต ถือเป็นเรื่องประกาศความเก่งกาจให้ชาวโลกรู้ แม้จะเป็นการค้นพบบันไดขั้นที่ 1 หรือ 2 ก็จะเป็นแนวทางต่อถึงขั้นที่ 10
ปัญหาของประเทศ...เมื่อได้บันไดขั้นที่ 2 ได้ตำแหน่งศาสตราจารย์แล้ว หรือได้เหรียญรางวัลแล้ว ไฟก็ม้วยมอดไป...หมดความกระตือรือร้นที่จะทําการศึกษาต่อและทําให้เมื่อนับผลงานตีพิมพ์วิจัยของประเทศในสาขาต่างๆ โดยเฉพาะทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ เราน่าจะอยู่ในอันดับต้นๆ ในด้าน...นํ้าหนักเป็นกิโลกรัม หรือเป็นตัน
แต่เหตุไฉน...มหาวิทยาลัยสิงคโปร์ ฮ่องกง ซึ่งอยู่ในอันดับโลก แม้จะมีน้อยกิโลฯแต่ได้รับการยอมรับ... คุณหมอธีระวัฒน์ สะท้อนว่า ฮ่องกงเมื่อเผชิญวิกฤติโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือโรคซาร์ส สามารถประคองตัว เอาตัวรอด ปรับปรุงการบริหารการจัดการ การเฝ้าระวังไม่ให้มีการระบาดต่อเนื่องได้อย่างน่าสรรเสริญ
“มิหนําซํ้ายังมีการค้นหาสืบพบสัตว์ต่างๆที่อมโรค แพร่โรคให้มนุษย์อย่างต่อเนื่อง...แบบอย่างการโต้ตอบโรคระบาดร้ายแรง เป็นแบบฝึกหัดอย่างดีให้ประเทศไทยเลียนแบบ”
เกริ่นมาถึงเพียงนี้เพื่อเป็นที่สรุปว่าเราจะเอา...ผลงานจับต้องได้ ใช้งานได้ โปรแกรมที่นํามาปรับปรุงคุณภาพสายงาน บุคลากร การทํางาน บูรณาการ การสร้างคนที่เป็นคนชั้นยอด หรือ...จะเอาแต่กระดาษตีพิมพ์
สองขั้วข้างต้นอยู่คนละข้าง ความเป็นจริงต้องไปด้วยกัน ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งกล่อง...ประเทศที่เจริญแล้ว การเติบโตเป็นทุกภาคส่วนพร้อมกัน ตั้งแต่ต้นนํ้า กลางนํ้า ปลายนํ้า จนถึงมีผลผลิตใช้งานได้จริง
แต่...ระบบการศึกษาของไทยขั้นสูงสุด ยึดกล่องพุ่งต้นนํ้าก็ไม่ถึงสักที โนเบลก็ไม่ได้ จะว่ายมากลางนํ้าก็ส่งผ่านต่อไปได้ไม่ถึงปลายทาง วกวนกับงานวิจัยที่แข่งกับฝรั่งในเรื่องที่ต้นทุนเราไม่พอ โดยไม่ตอบโจทย์ประเทศไทยที่งานวิจัยที่ต้องการคําตอบ...ไม่มีใครแย่งทํา เพราะตีพิมพ์ไม่ได้ ไม่ผ่านภาระงาน พิจารณาขึ้นขั้นไม่ได้
จีน...อินเดีย ตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว มีไหมงานวิจัยตีพิมพ์สวยหรู แต่...วางแผนสร้างความรู้เทคโนโลยีตั้งแต่ต้นนํ้าจนถึงปลายนํ้า ผลิตยาได้เอง มีสินค้าไฮเทคส่งออกทั่วโลก ผลิต...เครื่องจักร รถไฟ รถไฟฟ้าได้ในราคาถูก
ตามคำปราชญ์ท่านหนึ่งซึ่งต้องกราบขออภัยที่ไม่ทราบชื่อ ท่านกล่าวว่า “สัมผัสฟ้า ซับน้ำตา คือปรัชญาการวิจัย”
ไม่อยากจะพูดว่าระบบการศึกษาไทยที่เห็นๆกันขณะนี้...ล่มสลายไปเรียบร้อย พังพินาศต่อเนื่องกันมาเป็นสิบปี ไม่ได้...อยู่แค่ขั้นวิกฤติเข้าไอซียูอย่างที่นักวิชาการหลายท่านพูดปลอบใจ
ถ้าเราเริ่มนับหนึ่งใหม่ตั้งแต่วันนี้เราจะยังมีเด็กรุ่นใหม่ให้เห็นเป็น เจน (เนอเรชั่น) A...เกรด A อีกใน 20-25 ปี เพราะต้องผ่านประถม มัธยม อุดมศึกษา ซึ่งต้องไม่ลืมรวมขั้นอนุบาลเข้าไปด้วย และต้องมีประสบการณ์ใช้งานได้ด้วยความสุขุมคัมภีรภาพ ฉะนั้น...ต้อง “จํากัด” และ “กําจัด”...ผู้สร้าง “ระบบวงจรอุบาทว์” ที่เกิดขึ้นให้ได้
คุณหมอธีระวัฒน์ ยอมรับว่าไม่ได้มีอะไรวิเศษวิโสกว่าท่านทั้งหลาย ...ยังต้องก้มหน้าก้มตาทํางานเป็นข้ารับใช้ระบบ ที่ต้องมีภาระงานนานาตามที่กําหนด แต่ ณ สถานการณ์ปัจจุบันคงได้เห็นหลักฐานแจ้งประจักษ์แล้วว่าวงจร (อุบาทว์)...การศึกษาของไทย นอกจากไม่สร้างคน ยังทําลายคนรุ่นใหม่อย่างไม่ยั้งมือ
ตั้งแต่ อนุบาล...กลัวเข้าโรงเรียนดังไม่ได้ จับเด็กเล็กที่ควรพัฒนาสมองให้เปิดกว้างซึมซับธรรมชาติอย่างถูกต้อง จับมาท่องศัพท์ คิดเลข อัจฉริยะ ขั้น มัธยม...มีติว จะเข้ามหาวิทยาลัยยิ่งหนัก การเรียนการสอนนอกระบบห้องเรียน แท้จริงคือจับเข้าอีกห้องของโรงเรียนกวดวิชา ที่ครูติวมีชื่อเสียงแถมรวยอีกต่างหาก เพราะติวตรงข้อสอบ...ให้ตอบตรงที่ถาม ฉะนั้นเรื่องอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับสอบ ชั่งมัน
เพื่อให้ไต่เต้าระดับการศึกษา...จนจบปริญญาโท–เอก ความใฝ่รู้ หาความรู้ด้วยตนเองเป็นแค่คําขวัญและความฝันของกระทรวงศึกษาธิการ และมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นแค่โฆษณา...เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาแห่งชาติตามตัวหนังสือโก้เก๋
ประสบการณ์จากการได้ไปสอนแพทย์จากอินเดีย เนปาล มัลดีฟส์ เป็นเวลา 6 วัน ตามภารกิจการเป็นศูนย์ร่วมองค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับไวรัสสัตว์สู่คน สิ่งที่เห็นชัดเจนที่แตกต่างหลังมือเป็นหน้ามือ คือไม่มีใครหลับตั้งแต่ 08.30 ยัน 17.30...เตรียมคําถามมาเพียบ...เอารูปผู้ป่วยมาให้ดู ถกปัญหาที่มีในปัจจุบันและปัญหาที่อาจจะเกิดในอนาคต ทั้งที่เกิดในพื้นที่เอง...จากนอกพื้นที่ รวมถึงโรคติดต่อ...โรคที่ไม่ติดต่อที่เกิดจากความเจริญของมนุษย์สารพัด
ตลอด 6 วัน แม้จะชื่นใจที่งานลุล่วงและเป็นแม่แบบในการอบรมครั้งต่อๆไป แต่อดสะท้อนใจไม่ได้กับสภาพของนักเรียน นิสิตในเมืองไทย ...ความที่ต้องอยู่ในแวดวงการศึกษามาหลายสิบปีจะโทษนักเรียนก็ไม่ถูก
เพราะแต่ละหลักสูตร แต่ละรายวิชาหวังดี ยัดเยียดความรู้ประดามีในโลกให้เด็กกันมโหฬาร เด็กเองไม่มีโอกาสคิดด้วยซํ้าว่ามีข้อสงสัยไหม ต้องเล็งว่าครูสอนเน้นตรงไหนสําหรับสอบ ไม่เคยรู้ว่าปัญหาเมืองไทยอยู่ที่ไหน เรียนเรื่องวิชาต่างๆมากมายจนแยกไม่ออกว่าตรงไหนสำคัญสําหรับชีวิต
และสําหรับการทํางานในอนาคตเพื่อตนเองและสังคม ไม่มีโอกาสหา...ความรู้รอบตัว อ่านหนังสือพิมพ์ ติดตามข่าวสารความเป็นไปในโลก ทำเพียงตอบให้แม่นเวลาสอบ เก็บคะแนน...เป็นของขวัญพ่อแม่ เพื่อได้ประดับตนในการเรียนต่อในขั้นสูง
ระดับอุดมศึกษา แต่ละมหาวิทยาลัยก็มุ่งเกียรติยศ ตั้งเป้าติดอันดับ 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยโลก ขณะที่อาจารย์ที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ต้องทําวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติที่มีแต้มต่อสูง ทุนก็หายาก เวลาก็ไม่มี บ้านก็ต้องเช่าหรือยังผ่อน ครอบครัวก็เพิ่งเริ่มต้น ได้งานวิจัยแบบเบี้ยหัวแตก ตอบโจทย์ให้ใครไม่รู้
ระบบการศึกษาที่มุ่งหวังเรียนสูงๆ สร้างปริญญาเอกเป็นแสน เพื่ออะไร...คงต้องทบทวน.
ขอขอบคุณข่าวสาร/ข้อมูลดีๆ จากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เปิดเรื่องจริง ′สุนทรภู่′ ที่ครูไม่เคยสอน

โดย พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร มติชนรายวัน วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 38 ฉบับที่ 13620


สุนทรภู่ไม่ใช่คนเมืองแกลง แต่มีอนุสาวรีย์ที่ อ.แกลง จ.ระยอง ตามความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างโดยแนวคิดของ เสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีเมื่อครั้งยังเป็น ส.ส.ระยอง เมื่อ พ.ศ.2498 (ภาพจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)

สุนทรภู่ครูฉัน เกิดวันจันทร์ปีม้ายี่สิบหกมิถุนา เมื่อเวลา 8 น.
กลอนโบราณอายุกว่าร้อยปี ที่ถูกท่องสืบต่อมา จนมีเวอร์ชั่นใหม่ๆ ที่คล้ายคลึงกันเอาไว้ใช้ใน "วันสุนทรภู่" และก็เป็นดังเช่นทุกปีที่โรงเรียนต่างๆ พากันจัดนิทรรศการ ท่องอาขยาน ประกวดแต่งกลอนเพื่อเชิดชู ทว่า สิ่งที่คนไทยรับรู้และท่องจำกันมาตั้งแต่อยู่ชั้นเรียนนั้น บางประเด็นก็ช่างเป็นข้อมูลเก๊าเก่าที่ยังถูกผลิตซ้ำมานานหลายสิบปี ส่วนบางประเด็นก็ยังเป็นที่ถกเถียงว่าจริงหรือมั่ว ชัวร์หรือมโน

มาลองปิดแบบเรียนสูตรมาตรฐานเป็นการชั่วคราว แล้วเปิดใจฟังข้อมูลอีกด้านจากเหล่ากูรูกันดูไหม?


สุนทรภู่ไม่ได้มี "อาชีพ" กวี

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นกวีเอก ถึงขนาดได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อ พ.ศ.2529 แต่แท้จริงแล้ว สุนทรภู่ไม่ได้มี "อาชีพ" เป็น

กวีอย่างที่เข้าใจกันว่าท่านแต่งกลอนขายเลี้ยงชีพ เพราะในยุคต้นรัตนโกสินทร์ยังไม่มีเทคโนโลยีการพิมพ์ ที่ผลิตหนังสือได้คราวละมากๆ หากแต่ต้องนั่งหลังขดหลังแข็งคัดลอกด้วยมือลงในสมุดข่อยกันแรมเดือน มิหนำซ้ำ คน "รู้หนังสือ" ก็มีแต่พระสงฆ์กับชนชั้นสูงเท่านั้น ส่วนชาวบ้านร้านตลาดยังส่ายหน้าว่า "อ่านไม่ออก"

แล้วจะแต่งกลอนไปขายใคร?

"สุนทรภู่ไม่ได้มีอาชีพเป็นกวี เพราะกวีในยุคนั้นยึดเป็นอาชีพไม่ได้ ที่เราพูดๆ กันว่าสุนทรภู่เป็นกวีนี่เรายกย่องเขาทีหลัง ก่อนหน้านั้นเป็นอาชีพได้ที่ไหน อดตายพอดี" สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้เขียนบทความเกี่ยวกับสุนทรภู่ (ไว้นับไม่ถ้วน) กล่าว และเคยประกาศกร้าวว่าจะกล่าวเช่นนี้ต่อไปอีกทุกปี

ถ้าไม่ใช่กวี แล้วท่านทำอะไรเลี้ยงชีพ?
คำถามนี้ ต้องผายมือไปที่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เจ้าของผลงานอมตะนิรันดร์กาลอย่าง "ปากไก่และใบเรือ" ที่ว่าด้วยวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (การค้าสำเภา)

ยุคต้นรัตนโกสินทร์

นิธิ ยกย่องสุนทรภู่เป็น "มหากวีกระฎุมพี" เป็น "อาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว" และนักปราชญ์ในราชสำนักฝ่ายก้าวหน้า ที่ฝักใฝ่อยู่กับเจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กับเจ้าฟ้าน้อย (พระนามเดิมของพระปิ่นเกล้าฯ) ซึ่งทั้ง 2 พระองค์ ทรงเป็นพระโอรสของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

สรุปง่ายๆ คือ สุนทรภู่มีอาชีพรับราชการ ในตำแหน่ง "อาลักษณ์" เป็นผู้ร่างเอกสารสำคัญของราชสำนัก ถือเป็นขุนนางผู้ใหญ่ในราชสำนักรัชกาลที่ 2 ส่วนงานกวีนิพนธ์เป็นความสามารถส่วนตัว ไม่ใช่อาชีพ!

เข้าใจตรงกันนะ

(ซ้าย) พระอภัยมณี ขายดิบขายดีในยุคที่การพิมพ์แพร่หลาย รู้จักกันในนามวรรณกรรมวัดเกาะ หรือโรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ (ภาพจากฐานข้อมูลหนังสือเก่าชาวสยาม โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร องค์การมหาชน)

(ขวา) "โคตรญาติย่ายาย" สุนทรภู่อยู่ในตระกูลพราหมณ์เมืองเพชร หลงเหลือภาพถ่ายเก่าเสาชิงช้าวัดเพชรพลี อ.เมือง จ.เพชรบุรี เป็นหลักฐาน

เมืองแกลง ไม่ใช่ "บ้านเกิด" สุนทรภู่

ท่องกันมาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาว่าสุนทรภู่ครูกวีนั้น เป็นชาว "เมืองแกลง" จังหวัดระยอง โดยอ้าง "นิราศเมืองแกลง" ซึ่งระบุว่าท่านเดินทางไปเยี่ยมบิดาที่นั่น เลยถูกอนุมานว่าเป็นการ "กลับบ้านเกิด" แต่จริงๆ แล้ว ท่านถูกใช้ให้ไปหาบิดาซึ่งไปเมืองแกลงด้วยธุระราชการ ดังความตอนหนึ่งในนิราศเรื่องเดียวกันว่า "ถ้าเจ้านายไม่ใช้แล้วไม่มา"

ส่วนบ้านเกิดที่แท้จริง สุนทรภู่ "ปักหมุด" บอกโลเกชั่นไว้อย่างชัดแจ้งว่า "วังหลัง"(ต่างหาก) คือ "บ้านเก่า เหย้าเรือนแพ" ปรากฏใน "โคลงนิราศสุพรรณ" ความตอนนั้น มีอยู่ว่า
วังหลัง ครั้งหนุ่มเหน้า เจ้าเอย
เคยอยู่ชูชื่นเชย ค่ำเช้า
ยามนี้ที่เคยเลย ลืมพักตร์ พี่แฮ
ต่างชื่นอื่นแอบเคล้า คลาดแคล้วแล้วหนอ 

เลี้ยวทางบางกอกน้อย ลอยแล
บ้านเก่าเหย้าเรือนแพ พวกพ้อง
เงียบเหงาเปล่าอกแด ดูแปลก แรกเอย
รำลึกนึกรักร้อง เรียกน้องในใจ
วังหลัง อยู่แถวปากคลองบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี ทุกวันนี้คือที่ตั้งของโรงพยาบาลศิริราช บริเวณอาคารปิยมหาราชการุณย์ แถบสถานีรถไฟธนบุรีหลังเก่า เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ

อีกหนึ่งหลักฐาน ปรากฏในหนังสือ "สยามประเภท" ของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ที่อ้างว่า เมื่อ พ.ศ.2447 ตนได้พบกับ "นายพัด" บุตรชายของสุนทรภู่ ซึ่งขณะนั้นอายุได้ 86 ปี

นายพัดเล่าว่า "ขุนสุนทรโวหาร (ภู่) เป็นบุตรขุนศรีสังหาญ (พลับ) บ้านมีอยู่หลังป้อมวังหลัง เป็นสเตชั่นรถไฟสายเพชรบุรี" 

ปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ซึ่งใช้พื้นที่สถานีรถไฟธนบุรีเก่า มีนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับสุนทรภู่โดยประกาศให้โลกรู้แล้วว่าท่านเกิดในย่านดังกล่าว และเป็นที่น่ายินดีว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ครูภาษาไทยใจกว้างในหลายๆ โรงเรียนได้เริ่มปรับเปลี่ยนทัศนคติ โดยใช้ข้อมูลชุดนี้ในการสอนเด็กๆ กันบ้างแล้ว

(ซ้าย) "วังหลัง" บ้านเกิดสุนทรภู่ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ รพ.ศิริราช มองเห็นสถานีรถไฟธนบุรีหลังเก่า และอาคารปิยมหาราชการุณย์ (ภาพจากเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน)

(บน) ในยุคของสุนทรภู่ บทกวีขายไม่ได้ เพราะคนทั่วไปอ่านหนังสือไม่ออก และต้องคัดลอกต้นฉบับด้วยมือลงสมุดข่อยนานเป็นเดือน สุนทรภู่จึงไม่ได้มี "อาชีพ" กวี เพราะเลี้ยงชีพไม่ได้ (ภาพนี้คือ สมุดไทยดำ เรื่องนิราศเมืองเพชร)

(ล่าง) สุนทรภู่เกิดที่ "วังหลัง" บางกอกน้อย กรุงเทพฯ บ้านเป็นเรือนแพ นี่คือภาพใกล้เคียงสถานที่จริงซึ่งลอร์ดวินฟอร์ด (Lord Wynford) บันทึกไว้ใน พ.ศ.2369 มองเห็นวัดและพระบรมมหาราชวั
งอยู่ลิบๆ 

อาภัพ ยาจก ตกยาก
ความลำบากที่สุนทรภู่ "ไม่เคยสัมผัส"


ส่วนหนึ่งของข้อมูลจาก "วิกิพีเดีย" สารานุกรมเสรี ที่จะถูกเชื่อและ "ลอก" ต่อๆ กันไป คือ สุนทรภู่เคย "ตกยาก" ซึ่งเป็นความเข้าใจที่มีมานาน โดยปราศจากหลักฐานสนับสนุน เพราะจริงๆ แล้วชีวิตของท่านเข้าขั้น "ผู้ดีบางกอก" เนื่องจากมารดาเป็น"นางนม" ของ "พระองค์เจ้าจงกล" พระธิดาในกรมพระราชวังหลัง มีศักดิ์เกี่ยวดองเป็นพระญาติผู้ใหญ่ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (แก้ว) พระเชษฐภคินี (พี่สาวองค์โต) ในรัชกาลที่ 1 ฝ่ายบิดาก็เป็นถึงทหารรับใช้ใกล้ชิดกรมพระราชวังหลัง แถมมีเครือญาติเป็นตระกูลพราหมณ์เมืองเพชรบุรี ตามที่ท่านรจนาไว้ในนิราศเมืองเพชร ว่า

"เป็นถิ่นฐานบ้านพรามหณ์รามราช ล้วนโคตรญาติย่ายายฝ่ายวงศา เทวฐานสถิตย์อิศวรา เสาชิงช้าก็ยังเห็นเป็นสำคัญ"

ทวีโรจน์ กล่ำกล่อมจิตต์ เจ้าของ "มิวเซียมเพชรบุรี" และผู้เรียบเรียงหนังสือ"พราหมณ์สมอพลือ" บอกว่า เสาชิงช้าที่ว่านี้อยู่ที่วัดเพชรพลี ในตัวเมืองเพชรบุรี มีภาพถ่ายเก่าเป็นพยานชี้ชัดอยู่ อีกทั้งคนเฒ่าคนแก่ยังเล่าว่า ทันได้เห็นพราหมณ์โล้ชิงช้าในบริเวณดังกล่าวอีกด้วย

นอกจากนี้ ตลอดชั่วชีวิตของสุนทรภู่ ยังได้รับการดูแลจากเจ้านาย ไม่เคยต้องตกระกำลำบาก แม้ในช่วงบวชเป็นภิกษุนานถึง 18 พรรษา ก็อยู่ใน "วัดหลวง" อย่างวัดเทพธิดาราม โดยมีกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้อุปถัมภ์

ในบั้นปลาย ยังได้เป็นอาลักษณ์ในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) จนถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.2398 สิริอายุได้ 69 ปี โดยมีชีวิต "ดี๊ดี" ตราบชั่วอายุขัย

ไม่ได้รันทดแต่อย่างใด! 


สุนทรภู่ "ขี้เมา"
จริงหรือมั่ว ชัวร์หรือ "มโน"


"ไม่เมาเหล้าแต่เรายังเมารัก สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน"

บทกลอนสุดฮอตจาก "นิราศภูเขาทอง" ของสุนทรภู่ที่ชวนให้ "มโน" ไปเองว่ากวีเอกผู้นี้ก็คงตั้งวงเป็นประจำทุกค่ำคืน แต่จริงๆ แล้ว ยังไม่มีหลักฐานมัดตัวสุนทรภู่ในข้อกล่าวหานี้เลย

จุดเริ่มต้นของความเชื่อที่ว่าท่านเป็นกวีขี้เมานั้นสาเหตุหลักไม่ได้มาจากเนื้อหาในบทกลอนหากแต่มาจากข้อเขียนของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง"ประวัติสุนทรภู่" 

รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ ม.รามคำแหง 
บอกว่า เรื่องสุนทรภู่เป็นคนขี้เมา ไม่มีการจดบันทึกเป็นกิจจะลักษณะ หรือแม้แต่คำบอกเล่าก็ไม่เคยพบ นอกจากที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอ้างว่าสุนทรภู่เป็นอาลักษณ์ขี้เมาเท่านั้น และแม้ว่าในนิราศภูเขาทองจะกล่าวถึงเหล้า แต่ก็ไม่ได้พิสูจน์ว่าท่านเป็นคนขี้เมา อีกทั้งผลงานของสุนทรภู่เฉพาะที่พบแล้วในปัจจุบันก็มีจำนวนมาก หากขี้เมาจะเอาเวลาที่ไหนไปเขียน

"สุนทรภู่เป็นกวีที่มีความรู้ประเภทหนอนหนังสือและเปิดใจเรียนรู้ทันโลกพูดง่ายว่าทันสมัยทันเหตุการณ์ อีกทั้งยังมีจินตนาการสูงถ้าท่านเมาเช้าเมาเย็นไม่นับดื่มนิดดื่มหน่อยพอเป็นยา รับรองว่าจะไม่มีเรื่องพระอภัยมณี แต่จะเป็นไอ้หนุ่มมัดเมา" รุ่งโรจน์กล่าวอย่างติดตลก

อย่างไรก็ตาม แฟนานุแฟนหนังจีนกำลังภายในคงจะพากันทุบโต๊ะในโรงเตี๊ยม แล้วตั้งคำถามกลับว่า หากใช้ตรรกะคนขี้เมาสร้างงานดีๆ (และเยอะๆ) ไม่ได้ แล้วนักประพันธ์ชื่อก้องโลกที่มีหลักฐานชัดเจนว่ามือไม่ห่างจากจอกสุรา อย่าง "โกวเล้ง" ล่ะ จะอธิบายอย่างไร?

เอาเป็นว่า แม้ไม่มีข้อสรุปชัดเจนในเรื่องนี้ แต่ก็ถือเป็นการเปิดประเด็นให้ถกเถียงในวงวิชาการ และอาจรวมถึงวงสุราอีกด้วย

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเชื่อที่ (เกือบ) ถูกทำให้กลายเป็นข้อเท็จจริง

แล้ววันสุนทรภู่ปีนี้ จะยังท่องจำแบบผิดๆ หรือลองขบคิดเพื่อหาคำตอบ?
ขอขอบคุณข่าวสาร/ข้อมูลดีๆ จากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์มติชน

คำไทยน่ารู้...

การุณยฆาต คือ การทำให้ผู้ป่วยจบชีวิตหรือตาย โดยเป็นการกระทำที่เป็นเจตนาดีของแพทย์ และด้วยความเต็มใจของผู้ป่วยและญาติ เพื่อที่จะให้ผู้ป่วยนั้นพ้นจากภาวะการทรมานจากโรคที่ไม่สามารถรักษาหรือไม่สามารถฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาดีดังเดิมได้
การทำการุณยฆาตนั้น แบ่งออกเป็น 2 แนวทาง คือ
1. แพทย์ช่วยฉีดยา หรือ ให้ยา เพื่อให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ โดยไม่มีความเจ็บปวดหรือทรมาน
2. ปล่อยให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ โดยไม่ให้ยาหรือการรักษาเพิ่มเติม
การุณยฆาตนั้นเป็นสิ่งที่ถูกกฏหมายในบางประเทศ และยังเป็นสิ่งที่ผิดกฏหมายในหลายประเทศเช่นกัน สำหรับประเทศไทยนั้นการทำการุณยฆาตยังเป็นความผิดตามประมวลกฏหมายอาญาเรื่องการฆ่าคนตายโดยเจตนา ดังนั้นจึงผู้กระทำการดังกล่าวจึงจำเป็นต้องลักลอบกระทำ โดยความยินยอมของผู้ป่วย และ/หรือญาติ
หมายเหตุ
การุณยฆาต อ่านว่า กา-รุน-ยะ-คาด

อัตวินิบาตกรรม คือ การทำให้ตนเองถึงแก่ชีวิตหรือถึงแก่ความตาย ภาษาชาวบ้านเรียกว่าเป็นการฆ่าตัวตายนั่นเอง
อัตวินิบาตกรรม อ่านว่า อัด-ตะ-วิ-บาด-กำ
ในทางพระพุทธศาสนาถือว่า การทำอัตวินิบาตกรรมนั้นเป็นบาปอย่างหนึ่ง เนื่องจากเป็นการกระทำผิดศีลข้อที่ 1 ในศีล 5 เรื่องการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต การเบียดเบียนชีวิตของตนเองและผู้อื่น พุทธศาสนาถือว่าการเกิดเป็มนุษย์นั้นเป็นเรื่องยาก เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนควรภูมิใจ จึงไม่ควรทำลายชีวิตของตนเอง เนื่องจากการทำลายชีวิตตนเองหรืออัตวินิบาตกรรมนั้น ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลยแม้แต่น้อย เป็นเพียงแต่การหนีปัญหาเฉพาะตนเท่านั้น โดยทิ้งปัญหาเอาไว้ให้คนข้างหลังแก้ต่อไป

การสอบราคา คือ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างประเภทหนึ่งของหน่วยงานราชการ โดยการสอบราคานี้จะใช้เมื่อมีการจัดซื้อหรือจัดจ้างที่มีมูลค่าตั้งแต่ 100,000 บาทขึ้นไป แต่ไม่เกิน 2,000,000 บาท
ขั้นตอนการสอบราคา
การสอบราคาของหน่วยงานราชการ มีขั้นสอบระบุไว้ในระเบียบการจัดซื้อของทางราชการ ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนที่ 1. กำหนดรายละเอียดของสินค้าและบริการที่ต้องการซื้อหรือจัดหา
ขั้นตอนที่ 2. ทำรายงานการขอจัดซื้อจัดจ้างพร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการ
ขั้นตอนที่ 3. หัวหน้าส่วนราชการหรือผู้รักษาราชการแทนอนุมัติ
ขั้นตอนที่ 4. ประกาศ ความต้องการในการสอบราคาจัดซื้อจัดจ้าง
ขั้นตอนที่ 5. รับซอง เปิดซองสอบราคา
ขั้นตอนที่ 6. คณะกรรมการเปิดซอง พร้อมราบงานผลผู้ได้รับการคัดเลือก
ขั้นตอนที่ 7. อนุมัติจัดซื้อจัดจ้าง
ขั้นตอนที่ 8. เรียกผู้ชนะมาทำสัญญาซื้อขายหรือสัญญาจ้างงาน
ขั้นตอนที่ 9. จบกระบวนการ

โยชน์ คือ หน่วยวัดความยาวชนิดหนึ่งของไทย โดยที่ระยะทาง 1 โยชน์ มีความยาวเท่ากับ 400 เส้น
โยชน์ ถูกนำมาใช้เป็นหน่วยวัดความยาวของไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ เช่นเดียวกับหน่วย คืบ ศอก วา และเส้น โดยมีค่าการแปลงหน่วยดังนี้
2 คืบ = 1 ศอก (0.5 เมตร)
4 ศอก = 1 วา (2 เมตร)
20 วา = 1 เส้น (40 เมตร)
400 เส้น = 1 โยชน์ (16,000 เมตร)
จากสูตรการแปลงหน่วยความยาวของไทยเป็นแบบสากล จะพบว่าความยาว 1 โยชน์ มีค่าเท่ากับ 16,000 เมตร หรือเท่ากับ 16 กิโลเมตรนั่นเอง

กุรุส คือ หน่วยนับปริมาณชนิดหนึ่ง มีค่าเท่ากับ 12 โหล
กุรุส นิยมนำมาใช้เมื่อต้องการระบุจำนวนที่มีปริมาณมากๆ เพื่อให้เข้าใจและเห็นภาพง่ายขึ้น โดยที่ 1 กุรุส มีค่าเท่ากับ 12 โหล และ 1 โหล มีค่าเท่ากับ 12 ดังนั้น 1 กุรุส จึงมีค่าเท่ากับ 144 ชิ้นหรืออันนั่นเอง
1 โหล เท่ากับ 12 ชิ้นหรืออัน
1 กุรุส เท่ากับ 12 โหล
1 กุรุส เท่ากับ 12 x 12 = 144 ชิ้นหรืออัน

พุทธพาณิชย์ คือ การใช้ความเชื่อ ความศรัทธาในศาสนาพุทธ มาทำให้เกิดรายได้หรือข้าวของเงินทองให้กับตนเอง ซึ่งเป็นแนวทางที่ขัดกับหลักคำสอนของพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก
พุทธพาณิชย์ คือ กระบวนการค้าขายความเชื่อและความศรัทธาในพุทธศาสนาโดยใช้วัตถุหรือ
สัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาหรือพระรัตนตรัย มาเป็นเครื่องมือสร้างรายได้แสวงหาผลประโยชน์ในทางพาณิชย์ กล่าวคือ เป็นการใช้เงินเพื่อแสดงออกซึ่งปฏิสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนิกชนกับพุทธศาสนา ที่บ่งบอกถึงความใกล้ชิดและลักษณะความสัมพันธ์ที่มีร่วมกัน ผ่านกิจกรรมหรือพิธีกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การเช่าบูชาพระเครื่อง พระบูชา การทำบุญพระพุทธรูปปางประจำวันเกิด การสักการะพระพุทธรูปด้วยดอกไม้ ธูป เทียน ทอง ที่ทางวัดจัดบริการไว้ให้ เป็นต้น
ศาสนาพุทธสอนให้คนลด ละ เลิก กิเลสทุกชนิด สอนให้ใช้สติและปัญญาในการแก้ปัญหา รวมถึงสอนให้มีใจที่เป็นกุศล หมั่นทำบุญทำทาน แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยใช้พลังศรัทธาตรงนี้มาหาประโยชน์ใส่ตนเอง บางรายใช้วิธรสร้างเรื่อง (โกหก) ขึ้นมาเอง เพื่อให้เข้าใจว่าพระเกจิรุ่นนั้น เหรียญรุ่นนี้มีความขลังความศักดิ์สิทธิ์ เพื่อปั่นราคาของเหรียญหรือพระเครื่องรางที่ตนเองครอบครองอยู่ก็มี บางวัดใช้วัตถุและสิ่งปลูกสร้าง หรือมีกิจกรรมต่อเนื่อง เพื่อให้คนมาทำบุญและบริจาคเงินเข้าวัด เป็นต้น แนวปฏิบัตเหล่านี้ถือว่าเป็นพุทธพาณิชย์ทั้งสิ้น และเป็นกิจกรรมที่พึงได้รับความรังเกียจจากสังคมเป็นอย่างยิ่ง

ป.ล. ย่อมาจาก ปัจฉิมลิขิต หมายถึง ข้อความสุดท้าย หรือ ข้อความที่เพิ่มเติมเข้าไปภายหลัง
ความหมายของ ป.ล. ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานคือ
ปัจฉิมลิขิต [ปัดฉิม-] น. เขียนภายหลังคือหนังสือที่เขียนเพิ่มเติมลงท้ายเมื่อเซ็นชื่อแล้ว, ใช้
อักษรย่อว่า ป.ล.
ป.ล. หรือ P.S. (Post Script) ในภาษาอังกฤษ นิยมใช้เติมท้ายจดหมายหรือบันทึกข้อความ โดยเติมด้านล่างข้อความหลักในจดหมาย ตัวอย่างเช่น
นายสมบัติเขียนจดหมายถึงลูกที่เข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพ เพื่อถามถึงความเป็นอยู่ การเรียนในมหาวิทยาลัย การใช้ชีวิตในกรุงเทพ และในตอนท้ายของจดหมาย นายสมบัติได้เขียนข้อความไว้ว่า ป.ล. ต้นเดือนพ่อกับแม่จะไปเยี่ยมลูกนะเป็นต้น

พระราชพิธีโสกันต์ คือ พระราชพิธีโกนจุก ของพระราชโอรสหรือพระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายระดับพระองค์เจ้าขึ้นไป
ในสมัยโบราณนิยมให้เด็กไม่ว่าจะเป็นลูกชาวบ้านหรือพระบรมวงศานุวงศ์ไว้จุก ด้วยความเชื่อเรื่องความเจริญเติบโตและความเป็นสิริมงคล โดยมักเริ่มไว้จุกเมื่อมีอายุได้ 4-5 ปี และเมื่อมีอายุได้ราว 11-13 ปี ก็จะโกนจุก และไว้ผมตามปกติตามสมัยนิยม

ในส่วนของเจ้านายชั้นพระองค์เจ้าจนถึงเจ้าฟ้านั้น การโกนจุกหรือพระราชพิธีโสกันต์ นั้นถือเป็นงานใหญ่งานมงคลที่ต้องมีการเฉลิมฉลอง โดยมักจะมีพิธีการทางศาสนาเข้าร่วมด้วยเสมอ โดยเจ้านายพระองค์สุดท้ายที่จัดให้มีพระราชพิธีโสกันต์คือ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอินทุรัตนา พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เมื่อปี พ.ศ. 2474
หมายเหตุ พระราชพิธีโสกันต์เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4

พระราชดำริ หมายถึง ความคิด หรือ ความดำริ เมื่อเทียบกับการใช้ราชาศัพท์ของคำกริยา คิด, ดำริแล้ว คำว่า พระราชดำริ เป็นราชาศัพท์ที่ใช้แก่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งราชาศัพท์ของคำว่า ความคิด”, “ความดำริที่ใช้แก่พระบรมวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า ลงมาจนถึงพระอนุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้า ใช้ว่า พระดำริ
ที่มา ราชบัณฑิตยสถาน
ตัวอย่างการใช้คำว่าพระราชดำริ
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงมีพระราชดำริให้ริเริ่มโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรดา
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการเศรษฐกิจพอเพียง
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงมีพระราชดำริให้ชุมชนมีแหล่งน้ำตามธรรมชาติทุกชุมชน
- โครงการในพระราชดำริ


ที่มา.http://www.xn--12cg1cxchd0a2gzc1c5d5a.net/
เปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าศึกษาต่อ ระดับปริญญาตรี และ ปริญญาโท ในโครงการภาคพิเศษสำหรับนักบริหาร {Program for Executive}
(เรียนวันเดียว เฉพาะวันเสาร์ / วันอาทิตย์)แบบ Block Course ทำให้สามารถจบ ตามหลักสูตร ตามวัน และ เวลา ได้ภายในกำหนดที่แน่นอน
สอบถาม.โทร. 089 455 7878 | 02 926 7121 | E-mail : thetrainingedu@gmail.com | Line ID : 15edu

Social Network
 Twitter Facebook Google Plus Youtube